บทเรียนครั้งที่ 2 ที่ เป๊ป ไม่เคยจำในฟุตบอลรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก

บทเรียนครั้งที่ 2 ที่ เป๊ป ไม่เคยจำในฟุตบอลรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก

6th October 2020 Off By bambuca

บทเรียนครั้งที่ 2 ที่ เป๊ป ไม่เคยจำในฟุตบอลรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก

ชีวิตคนเราบางทีมันก็ต้องเสี่ยง แต่การเสี่ยงหนล่าสุดของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า นั้นเหมือนจะกลายเป็นทางเลือกหายนะที่ทำให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีอันต้องกระเด็นร่วงตกรอบ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในซีซั่นนี้ ระบบ 3-1-4-2 ที่ทดลองใช้ในช่วง 45 นาทีแรก ไม่ได้ช่วยให้ลูกทีมของเขาอยู่ในจุดที่เหนือกว่าคู่แข่งเลย มิหนำซ้ำ ยังแอบแลดูเพลี้ยงพล้ำนิดๆ ไปเสียอีก

พาไปดู บทเรียนซ้ำซากของ เป๊ป ในรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ กุนซือร่างเล็กชาวสแปนิช เลือกเปลี่ยนทีมเปลี่ยนระบบแบบเซอร์ไพรซ์ในเกมสำคัญ เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 ที่ บาเยิร์น มิวนิค โดน เรอัล มาดริด ไล่ถลุงไป 4-0 ครั้งนั้นเขาก็วางหมากพลาดเช่นกัน แม้จะเก่งแค่ไหน แต่พอพลาดแล้ว เป๊ป ก็กล้าที่จะยอมรับ เขาเคยปฏิเสธการใช้ระบบ 4-2-4 มาตลอดที่ อัลลิอันซ์ อารีน่า แต่ก็ไม่รู้เหตุผลกลใดที่ทำให้เขาเลือกหยิบมันมาใช้ในเกมสำคัญที่สุดของชีวิต

บทเรียนครั้งที่ 2 ที่ เป๊ป ไม่เคยจำในฟุตบอลรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก

หากเป็นระบบ 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 แบบเบสิคพื้นฐาน ใครจะรู้ว่าบางทีเราอาจเห็นเขาพา บาเยิร์น เป็นแชมป์ยุโรปตั้งแต่ตอนนั้นไปแล้ว ทรยศปรัชญาตัวเอง มันอาจดูเป็นคำที่แรงเกินไป แต่มันก็เป็นความจริงที่ปรากฏในบางส่วน อดีตกุนซือของ บาร์เซโลน่า เคยพูดคอนเฟิร์มกับสื่อและเตือนใจตัวเองตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน ว่าเขาจะไม่บุ่มบ่ามทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าแบบนั้นอีก แต่มันดูเหมือนว่าเวลาจะทำให้เขาหลงลืมความสำคัญของคำพูดนี้ไป มันอาจไม่ใช่ฤดูกาลที่ “เรือใบ “ประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่ถึงกระนั้น เราทุกคนก็รู้ดีว่ารากฐานความสำเร็จของ เป๊ป กับ แมนฯ ซิตี้ ตลอดช่วงเวลาราวๆ 4 ปีครึ่งที่ผ่านมา มันคือการเล่นในระบบ 4-3-3

แม้จะมีลูกพลิกแพลงบ้างในรอบก่อนหน้านี้ที่บุกอัด เรอัล มาดริด ถึงถิ่น 2-1 ด้วยการเอา ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ไปยืนคำเป็น ฟอลส์ ไน พร้อมถ่าง กาเบรียล เชซุส ไปเล่นริมเส้น แต่ถึงกระนั้น รากฐานเกมรับมันก็ยังเป็นแบ็คโฟร์ และกองกลางตัวเก่ง 3 คน หากนำเอาแท็คติกเกมดังกล่าว มาเทียบกับการวางหมากในแมตช์พบ โอแอล พวกเราก็จะพบความจริงเช่นกันว่า เป๊ป พยายามทำอะไรให้มันซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมเยอะ การใช้มิดฟิลด์ตัวรับคนเดียว และวาง คาย วอลเกอร์ และ ชูเอา กานเซโล่ ขึ้นไปยืนเป็นวิงแบ็ค ไม่ได้ช่วยให้เกมของ ซิตี้ ดีขึ้น สปีดความเข้มข้นในเกมของพวกเขาหายพลันไปกับตา

บทเรียนครั้งที่ 2 ที่ เป๊ป ไม่เคยจำในฟุตบอลรายการ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก

เข้าสู่ครึ่งเวลาหลัง แม้กระทั่งตัวของ เป๊ป เองก็รู้ดีว่าหมากของเขานั้นไม่เวิร์ก เราจึงได้เห็น ริยาด มาห์เรซ และ แฟร์นานดินโญ่ ถูกส่งลงสนามมา และปรับระบบการเล่นกลับไปเป็นหลัง 4 เหมือนเดิม แต่มันก็ไม่ทันแล้ว ด้วยเงื่อนไขของเวลา สถานการณ์ และความมั่นใจของคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ความโชคร้ายมีส่วนอยู่บ้าง บางที เป๊ป อาจจะโวยการตัดสินของ วีเออาร์ หรือหยิบจังหวะพลาดหมูหกของ สเตอร์ลิ่ง ว่าคือจุดเปลี่ยนสำคัญของเกม นั่นก็คงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลการแข่งขันทั้งหมด

ถึงกระนั้น มันก็ยังหนีความจริงไม่ได้อยู่ดีว่าเขาตัดสินใจพลาดเต็มๆ ที่ไม่เลือกใช้จุดแข็งที่สุดของทีมตัวเอง ความผิดพลาดของคนเราสามารถเกิดขึ้นได้ และมันก็ไม่ใช่ความล้มเหลวที่รุนแรงถึงขั้นที่บอร์ดบริหารของ ซิตี้ จะต้องยุติเส้นทางของกุนซือรายนี้ ไว้เพียงแค่นี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ เป๊ป ควรต้องจำให้แม่นๆ ขึ้นใจเลยก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาลหน้ามาถึง เขาควรจะมั่นใจว่าเขาเลือกใช้อาวุธเด็ดที่สุดของตัวเอง ลงไปซัดกับคู่แข่งของเขาจริงๆ